บริหารจัดการอาคาร: วิธีเลือกขนาดแอร์ให้เย็นฉ่ำ สบายทั่วทั้งห้อง แถมประหยัดเงินในกระเป๋า เวลาจะเลือกแอร์มาติดที่ห้องต่าง ๆ ต้องคำนวณขนาดห้องให้เข้ากับค่าตัวความร้อนในห้อง เพื่อให้ได้ BTU ที่เหมาะสม ทำความเย็นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ต้องกลัวว่าจะเปลืองค่าไฟ

นอกจาก BTU วิธีเลือกขนาดแอร์ให้เข้ากับการใช้งาน ยังต้องดูที่ติดแอร์ขนาดเหมาะกับห้อง ดูรูปแบบการใช้งาน ทิศที่ตั้งของห้อง สมาชิกในห้อง และความสูงของเพดานห้อง ไม่เช่นนั้นอาจจะเลือกแอร์มาเล็กเกินไปจนทำความเย็นไม่ทันได้

คนขี้ร้อนมักจะคิดว่าหากติดแอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าห้อง จะทำให้ห้องเย็นเร็วกว่าเดิม แต่จริง ๆ แล้วถ้าเลือกแบบนี้อาจจะทำให้เราเสียค่าไฟมากเกินไปโดยไม่จำเป็น เพียงแค่เลือกแอร์ให้เข้ากับขนาดห้องก็เพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแอร์ห้องเล็ก ห้องใหญ่ ก็เย็นฉ่ำ แถมยังประหยัดไฟกว่าด้วย

รู้หรือไม่ว่าเวลาเลือกแอร์เราจะต้องเลือกที่ BTU และถ้าหลายคนยังไม่รู้ว่า BTU คืออะไร คำนวณอย่างไร และควรจะเลือกแอร์ตามปัจจัยไหนอีก วันนี้จระเข้มีคำตอบมาฝากกัน

วิธีการคำนวณ BTU ให้เข้ากับขนาดห้องใช้สูตรไหนดี?
วิธีเลือกขนาดแอร์ให้เข้ากับการใช้งาน
ประหยัดค่าไฟกว่าเดิม ด้วยสีลดความร้อนในอาคารอย่างสีจระเข้ ไบโอสเฟียร์ พรีเมี่ยม

BTU แอร์คืออะไร?

BTU ที่ย่อมาจาก British Thermal Unit คือ หน่วยวัดพลังงานความร้อนชนิดหนึ่ง เป็นการวัดความสามารถในการถ่ายเทความร้อนออกจากห้องใน 1 ชั่วโมง ตัวเลข BTU ของแอร์นั้นจะเป็นปริมาณการถ่ายเทความร้อนที่ทำได้ เช่น ถ้าเป็นแอร์ขนาด 18,000 BTU ก็เท่ากับว่าถ่ายเทความร้อนได้ 18,000 BTU ใน 1 ชั่วโมงนั่นเอง จึงควรจะเลือกขนาดแอร์ให้เข้ากับขนาดห้องมากที่สุด เพื่อให้แอร์ให้ความเย็นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

วิธีการคำนวณ BTU ให้เข้ากับขนาดห้องใช้สูตรไหนดี?

ความกว้าง (m) x ความยาว (m) x ค่าตัวแปร = BTU

แอร์ที่ใช้กันในบ้านหรืออาคารทุกวันนี้มีขนาดตั้งแต่ 9,000-80,000 BTU ขึ้นอยู่กับขนาดห้อง ถ้าใช้แอร์ใหญ่ไปอาจจะเปลืองไฟมากเกิน เล็กไปก็อาจจะไม่เย็นพอ โดยวิธีคำนวณ BTU แอร์นั้นจะต้องใช่ค่าตัวแปร ซึ่งเป็นค่าความร้อนที่เกิดขึ้นในแต่ละห้อง แต่ละห้องจะมีค่าต่างกันดังนี้

ห้องนั่งเล่นหรือห้องรับแขก ค่าตัวแปร = 750-850 BTU ต่อตารางเมตร
ห้องครัว ค่าตัวแปร = 900-1,000 BTU ต่อตารางเมตร
ห้องนอน ค่าตัวแปร = 700-750 BTU ต่อตารางเมตร
ห้องทำงาน ค่าตัวแปร = 800-900 BTU ต่อตารางเมตร

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจวิธีคำนวณ BTU ง่ายขึ้น จระเข้มีตัวอย่างการคำนวณมาฝากกัน บอกเลยว่าไม่ยากอย่างที่คิด ไปดูกันได้เลย!

ตัวอย่างที่ 1 ห้องขนาด 4×4 ใช้แอร์กี่ BTU?

ติดแอร์ห้องนอนขนาด 4×4 ควรใช้แอร์กี่ BTU >> (4×4) x 750 = 12,000 BTU

แอร์ห้องนั่งเล่น

ตัวอย่างที่ 2 ห้องขนาด 4×6 ใช้แอร์กี่ BTU

ติดแอร์ห้องรับแขกขนาด 4×6 ควรติดแอร์กี่ BTU >> (4×6) x 850 = 20,400 BTU

ใครไม่ชอบเรื่องตัวเลข ไม่ชอบคำนวณ และยังไม่เห็นภาพ จระเข้สรุปมาให้แล้วว่าห้องแบบไหนจะต้องติดแอร์กี่บีทียู แถมเรายังแบ่งมาให้ด้วยเลยว่าห้องปกติกับห้องโดนแดดจะต้องใช้บีทียูเท่าไร ถึงจะเข้ากับขนาดห้องติดแอร์

นอกจากการคำนวณ BTU ให้เหมาะสม ยังมีเรื่องอื่นที่เราต้องสังเกตดูให้ดีก่อน เพราะถึงจะเลือกขนาดแอร์มาตามสูตรที่เราแนะนำ ก็อาจจะไม่เพียงพอ แทนที่จะเย็นฉ่ำประหยัดเงิน ก็อาจจะกลายเป็นไม่คุ้มค่าการลงทุนได้ แต่จะต้องดูตรงไหนนั้น ตามจระเข้ไปต่อกันได้เลย!

วิธีเลือกขนาดแอร์ให้เข้ากับการใช้งาน

1. ไม่ต้องติดใหญ่ไปเพื่อให้แอร์เย็นเร็ว

เป็นคนชอบอยู่ห้องเย็น ๆ อยากได้แอร์ที่เย็นเร็วเป็นพิเศษ ถ้าเป็นห้องนอน หรือห้องนั่งเล่นภายในบ้าน อาจจะเลือก BTU สูงกว่าขนาดห้องติดแอร์ก็ได้ แต่อย่าลืมว่าถ้าเลือกติดแอร์ใหญ่กว่าห้อง เราจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นอีกเยอะโดยไม่จำเป็น และเสียค่าไฟมากขึ้นด้วย โดยแอร์รุ่นใหม่ ๆ ก็พัฒนาให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีฟังก์ชันความเย็นหลากหลาย ดังนั้นเลือกติดให้พอดีกับขนาดห้องจะดีที่สุด

2. รูปแบบการใช้งาน เปิด-ปิดประตูบ่อยแค่ไหน

ถึงจะติดแอร์เข้ากับขนาดห้อง แต่ถ้าเป็นห้องที่เปิด-ปิดประตูบ่อย ๆ อย่างร้านค้าหรือร้านอาหาร ทำให้แอร์เย็นช้าลง หรือเย็นไม่สม่ำเสมอ แล้วตัวเครื่องก็ทำงานหนักขึ้นด้วย ส่งผลให้เราต้องเสียค่าไฟแพงขึ้น แถมมีโอกาสที่ตัวเครื่องจะเสื่อมเร็วขึ้น ทำให้ต้องเสียค่าซ่อมแซมเร็วกว่าที่ควร เราจึงควรจะเลือกแอร์ให้มีขนาด BTU มากกว่าขนาดห้องเผื่อไว้เสียหน่อย เพื่อให้แอร์ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป

3. ทิศที่ตั้งของห้อง โดนแดดเยอะแค่ไหน

ถ้าเป็นห้องที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ แดดส่องเข้าเยอะในตอนเช้า หรือตั้งอยู่ทางทิศใต้ แดดส่องเข้าเต็ม ๆ ในตอนบ่าย ก็จำเป็นต้องเลือกค่า BTU เพิ่มขึ้น 5% เป็นอย่างน้อย เพื่อให้แอร์ทำงานได้เข้ากับสภาพอากาศในห้อง ไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไป และยังช่วยให้ทำความเย็นได้เร็วมากขึ้นด้วย

4. จำนวนผู้ที่ใช้ห้อง ถ้าคนเยอะก็เลือกใหญ่หน่อย

จำนวนสมาชิกที่อยู่ในห้องก็สำคัญ เพราะยิ่งคนเยอะห้องก็ยิ่งมีความร้อนสะสมมากขึ้น ทำให้แอร์เย็นลงไปด้วยได้ อย่างเช่น บ้านที่เป็นครอบครัวใหญ่ ห้องที่ใช้เป็นห้องทำงาน หรือเป็น Home Office ก็จำเป็นต้องเลือก BTU มากกว่าปกติ หรือใช้วิธีติดแอร์มากกว่า 1 ตัว เพื่อให้อากาศหมุนเวียนได้ทั่วถึง

5. ความสูงของเพดาน ถ้าสูงมากความเย็นอาจกระจายไม่ทั่วถึง

สำหรับห้องเพดานสูง ที่ออกแบบให้มีเพดานสูง 2.5 – 3 เมตรขึ้นไป ถ้าติดแอร์พอดีกับความกว้างความยาว ลมเย็นจากแอร์อาจจะกระจายตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้ห้องไม่เย็นเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าคำนวณ BTU ได้ตามที่กล่าวมาแล้ว อาจจะต้องเผื่อให้สูงขึ้น เพื่อให้แอร์ทำงานได้กว้างขึ้น